14 จุดสุดประทับใจ… เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์

14 จุดสุดประทับใจ… เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์

Impressions-3

จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวจังหวัดหนึ่งที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย การเดินทางสะดวก สถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนอยากไปเที่ยวชมทะเลหมอกที่อำเภอเขาค้อ หรือชมดาวบนดินรับความหนาวเย็นที่ภูทับเบิก แต่ที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ นั้น ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าที่อื่นเลย  ศูนย์บริการการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์  ได้รวบรวม 14 จุดสุดประทับใจ ท่องเที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์  ไว้ให้นักท่องเที่ยวแวะมาเที่ยวกัน

เมื่อมาเที่ยวเป็นหมู่คณะหรือมาเป็นครอบครัว ติดต่อขอรับบริการนำเที่ยวเป็นหมู่คณะ มีรถนำเที่ยวพาเที่ยวพร้อมวิทยากรให้คำแนะนำ โดยติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist Service Center) ที่หอโบราณดคีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (ศาลากลางเก่า) โทรศัพท์ 056 721523 ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

แนะนำหากต้องการทราบรายละเอียดให้มาที่จุด 2 หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ก่อน ที่นี่เป็นศูนย์บริการการท่องเที่ยว ของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์  และรวบรวมข้อมูลท่องเที่ยว ที่พัก ที่กินต่างๆ ทั้งจังหวัดไว้ที่นี่ มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบาย  ส่วนสถานที่ท่องเที่ยว 14 จุดสุดประทับใจ มีที่ไหนบ้าง มาติดตามดูกัน

 

1. พุทธอุทยานเพชบุระ (Pechabura Buddhist Park)

เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ ฯ ซึ่งสร้างจำลองมาจากพระพุทธมหาธรรมราชาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ที่วัดไตรภูมิ เป็นมหาพุทธานุสรณ์ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของคนเพชรบูรณ์ นอกจากนั้น ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษาในพ.ศ. 2554 องค์พระฯ หล่อด้วยโลหะทองเหลืองบริสุทธิ์หนักกว่า 45 ตันที่ปลายยอดจุลมงกุฎหล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 126 บาท องค์พระสูง 16.599 เมตร สูงจากพื้นดิน 35 เมตร ขนาดหน้าตัก 11.984 เมตร ซึ่งมีความหมายว่า
1 หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์หนึ่งในดวงใจของชนชาวไทยทั้งประเทศ
1 หมายถึงพระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งมีเพียงองค์เดียวในโลกที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเพชรบูรณ์
9 หมายถึง รัชกาลที่ 9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์
84 หมายถึงวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในวันที่ 26กันยายน 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีบรรจุพระบรม สารีริกธาตุจาก 9ประเทศไว้ที่ปลายยอดจุลมงกุฎและเบิกพระเนตรองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระ เกียรติฯ ณ พุทธยานเพชบุระ
พิกัด GPS : 16.446460, 101.153491 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)
รายบะเอียดเพิ่มเติม   http://www.tourphetchabun.com/pechabura

 

2. หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (PhetchabunIntrachai Archaeology Hall)

เป็น การปรับปรุงศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่าให้เป็นหอโบราณคดีที่จัดแสดง เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 จัดแสดงเป็น ห้องโถงต้อนรับ ห้องกาแฟและห้องว่าด้วยของกินในเพชรบูรณ์ ชื่อว่า ห้องครัวเพชรบูรณ์ ระยะ 2 จะเป็นการจัดแสดงเรื่องราวของเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึง ยุคศรีเทพระยะ 3 จะจัดแสดงในช่วงต่อมาคือ สมัยสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคร่วมสมัย มีห้องสมุดทางวัฒนธรรมของเพชรบูรณ์และห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน สำหรับชื่อ เพ็ชรบูรณ์อินทราชัยนั้น เป็นพระนามของเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสอันดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist ServiceCenter) อีกด้วย
พิกัด GPS : 16.419124, 101.159743 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

3. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ (Phetchabun City Pillar Shrine)

มี ลักษณะเป็นศาลาทรงไทยตรีมุขเป็นที่ตั้งเสาหลักเมืองแห่งเดียวในประเทศไทยที่ ทำด้วยหิน ซึ่งในการบูรณะศาลหลักเมืองเมื่อปีพ.ศ.2548 ได้พบว่าเสาหลักเมืองนั้นเป็นศิลาจารึกอักษรขอมเขียนเป็นภาษาสันสกฤตเล่า เรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์1 ด้านและศาสนาพุทธ 3 ด้าน ตัวเสาหลักเมืองเป็นแท่งเสาหินทรายสีเทามีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างจนถึงปลายยอด 184 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร สันนิฐานว่า น่าจะอัญเชิญมาจากเมืองศรีเทพตั้งแต่ครั้งโบราณและมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ ก่อน แล้วจึงอัญเชิญมาตั้งเป็นเสาหลักเมืองเมื่อ พ.ศ. 2443 จากการลอกลายอักษรและอ่านโดยกรมศิลปากรพบว่าศิลาจารึกนี้ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่16จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่ทรงคุณค่าและเก่า แก่ที่สุดในประเทศไทยอายุนับพันปี ซึ่งชาวเพชรบูรณ์ให้ความศรัทธา เคารพสักการะและเชื่อถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด ผู้ที่สนใจ สามารถชมตัวอักษรบนเสาหลักเมืองคำอ่าน และคำแปล ได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์
พิกัด GPS : 16.420658, 101.159977 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

4. หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ (Nakornban Phetchabun Cultural Hall)

เป็น การปรับปรุงศาลาประชาคมจังหวัดเพชรบูรณ์เดิม โดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็นอาคารขนาดใหญ่เพื่อเป็นสถานที่ รวบรวม จัดแสดง ถ่ายทอด เรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และคิดค้นองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนาด้าน วัฒนธรรมเพื่อช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนเรียนรู้วัฒนธรรมและมีสำนึกรักท้องถิ่นของตนเอง และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย อาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ห้องประชุม มีเวทีสามารถจัดกิจกรรมและการแสดงต่าง ๆ ส่วนที่ 2 คือ ส่วนที่เป็นห้องโถงไว้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ ส่วนที่ 3 คือ เวทีและลานสำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง
พิกัด GPS : 16.420619, 101.159373 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

5. ประติมากรรมมะขามหวาน (Model of Sweet Tamarind)

สร้าง ขึ้นเพื่อเป็นจุดสัญลักษณ์“เพชรบูรณ์ เมืองมะขามหวาน” เป็นจุดถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวเมื่อได้เดินทางมาถึงเพชรบูรณ์แล้ว เป็น ประติมากรรมมะขามหวานพันธุ์หมื่นจงมีลักษณะฝักโค้งและผอมเพราะมะขามหวาน หมื่นจงเป็นมะขามหวานพันธุ์แรกที่ปลูกในเพชรบูรณ์ ต้นเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า มะขามหวานที่นิยมปลูกกันมากใน จังหวัดเพชรบูรณ์นอกจากพันธุ์หมื่นจงแล้ว ยังมีพันธุ์สีทอง ประกายทอง น้ำผึ้ง ศรีชมพูอินทผลัม ฯลฯ ด้านหลังประติมากรรมยังมีป้ายข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมะขามหวานให้ผู้ที่สนใจ ได้อ่านและศึกษาอีกด้วย
พิกัด GPS : 16.420619, 101.159373 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps) ที่ตั้งที่เดียวกับ  หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์

 

6. หอประวัติศาสตร์เพชบุระ (Pechabura Historical Hall)

เดิม เป็นที่ตั้งของจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง ชื่อว่า “สวนสาธารณเพชบุระ” (เพ-ชะ-บุ-ระ) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเพชรบูรณ์ ตามที่ปรากฏในจารึกบนลานทองคำที่ค้นพบในกรุเจดีย์วัดมหาธาตุซึ่งมีความหมาย ว่าเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ภายในสวนฯ มีลานเอนกประสงค์ขนาดใหญ่และเวทีสำหรับจัดงานต่างๆ มีลานออกกำลังกาย ศูนย์ออกกำลังกาย ประติมากรรมเมืองอยู่สบาย ส่วนตัวอาคารจวนผู้ว่าฯ เก่าได้จัดทำเป็นหอประวัติศาสตร์รวบรวมประวัติบุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญ ภาพในอดีตของเพชรบูรณ์ห้องสมุดข้อมูลเพชรบูรณ์ เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้ขุดค้นพบในเพชรบูรณ์รวมทั้งของที่ประชาชนทั่วไปได้บริจาคมาร่วมจัด แสดงด้วย
พิกัด GPS : 16.419078, 101.157251  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

7. หอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์ (Hall of Phetchabun Wisdom and Folkways)

เป็น อาคารสำนักงานกาชาดเก่าที่อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะเพชบุระได้จัดเป็นหอแสดงภูมิปัญญา และวิธีชีวิตคนเพชรบูรณ์แบ่งเป็นเรื่องการทำมาหากินอาชีพดั้งเดิม ของคนเพชรบูรณ์ 6 เรื่องด้วยกัน คือ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ใบยาสูบ การหาของป่าและวิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก พร้อมทั้งเครื่องมือทำมาหากินและเครื่องมือที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยจัดเป็น ห้องนิทรรศการที่ทันสมัย สวยงามและมีคุณค่ายิ่ง
พิกัด GPS : 16.419078, 101.157251  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)  ที่ตั้งที่เดียวกับ หอประวัติศาสตร์เพชบุระ

 

8. วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง (Mahathad Royal Temple)

เป็น วัดเก่าแก่ที่สุดคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้านหลังโบสถ์ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สูงประมาณ 8 วาเศษ เมื่อพ.ศ. 2510 ได้มีการขุดค้นเจดีย์ พบจารึกลานทองในท้องหมูสำริดจารึกว่า “พระเจ้าเพชบุร” เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.1926 และยังพบพระพุทธรูปสมัยต่างๆเช่น ทวาราวดี ลพบุรีสุโขทัย อู่ทอง และพระเครื่องเนื้อชิ้นพิมพ์ต่าง ๆ มากมายเช่น ร่มโพธิ์ เปิดโลกนาคปรก นางพญา ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มประตูชัย ฯลฯ  นอกจากนั้น ยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรมีชัยที่ตามพงศวดารระบุว่า พระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ในขณะนั้นได้เคยมานมัสการในขณะเดินทัพมาพักที่เพชรบูรณ์ วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองมีความสำคัญต่อเมืองเพชรบูรณ์มา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
พิกัด GPS : 16.420641, 101.155428 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

9. วัดไตรภูมิ (Triphum Temple)

เป็นวัดกลางเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก มีอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาธรรมราชาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ ศิลปะขอม หน้าตักกว้าง 13นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน หล่อด้วยทองสำริด ทรงชฎาเทริดดูน่าเกรงขาม เข้มขลัง งดงามมาก เป็นพระพุทธรูปที่คนเพชรบูรณ์เชื่อกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่7 พระราชทานให้แก่พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเมื่อครั้งที่พ่อขุนผาเมืองทรงอภิเษกกับ พระราชธิดาพระนางสิงขรเทวี ภายในวัดไตรภูมิยังมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูงประมาณ9 เมตร และมีความยาวรอบฐาน 9 เมตร ในอดีต ท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิยังเป็นท่าน้ำที่เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญเป็นที่ ตั้งของตลาดเมืองเพชรบูรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันมาแต่โบราณกาล
พิกัด GPS : 16.422762, 101.161141  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

10. กำแพงเมืองและหอนิทรรศน์กำแพงเมืองเพชรบูรณ์ (Phetchabun WallExhibition Hall)

ลักษณะ กำแพงก่ออิฐถือปูนที่ประตูเมืองมีหินทรายและศิลาแลงประกอบบางส่วน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกลางกรุงศรีอยุธยามีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 500 เมตร มีป้อมปราการทั้งหมด 4 ป้อมคือป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมศาลเจ้าแม่ ป้อมหลักเมือง และป้อมที่ยังสมบูรณ์ที่สุดคือป้อมสนามชัย ยังคงมีซากประตูเมืองอยู่ 2 ด้านคือประตูชุมพลทางทิศตะวันตกที่ถนนเพชรรัตน์และประตูดาวทางทิศตะวันออก ที่ข้างวัดประตูดาว กำแพงเมืองเพชรบูรณ์มีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ตัวป้อมแต่ละมุมจะยื่นไปนอกแนวกำแพงเรียกว่าเป็นการสร้างป้อมแบบหัวธนู
ส่วนหอนิทรรศน์กำแพงเมือง เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงรายละเอียดการสร้างกำแพงเมืองโบราณของเพชรบูรณ์ 2 ยุคสมัยด้วยกัน คือ สมัยสุโขทัยและอยุธยา ภายในหอฯ นอกจากจะมีข้อมูลเกี่ยวกับวัดโบราณและตำนานพื้นบ้านที่ร่วมสมัยกับกำแพง เมืองเพชรบูรณ์แล้ว ยังมีข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกำแพงเมืองในที่ต่างๆ อีกด้วย ส่วนอาคารด้านนอกจะสร้างโดยใช้ลักษณะแบบป้อมกำแพงเมืองที่มีใบบังและใบเสมา ตามหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งสามารถเดินรอบและขึ้นไปชั้นบนเพื่อดูวิวทิวทัศน์ อย่างป้อมกำแพงเมืองจริงๆ ได้
พิกัด GPS : 16.423414, 101.162003  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

11. วัดเพชรวรารามพระอารามหลวง (Phet-wararam Royal Temple)

เป็น วัดที่มีความสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จฯมาเยี่ยมและเผยแพร่ธรรมถึง 3 พระองค์ และเป็นวัดที่มีพระอุโบสถที่งดงามยิ่ง มีสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมและแผนกบาลีภายในวัดมีสวนป่าสวยงาม ร่มรื่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์และเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อน หย่อนใจ  เพื่อกล่อมเกลาจิตใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 และนอกจากนี้ภายในวัดยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทจำลอง และพระไพรีพินาศ
พิกัด GPS : 16.416042, 101.163353  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

12. วงเวียนอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์ (NakornbanPhetchabun Memorial Circle)

จัดสร้างขึ้นโดยจำลองจากเสาหลักเมืองนครบาลฯที่เมื่อ พ.ศ. 2486-2487 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนดย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์โดยใช้ชื่อว่า “นครบาลเพชรบูรณ์” เพราะเห็นว่าเพชรบูรณ์นั้นมีเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม อากาศดี อยู่ใจกลางประเทศ มีภูเขาล้อมรอบและมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว และได้ดำเนินการอพยพราษฎรมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์พร้อมกับย้ายที่ทำการ รัฐบาลตลอดจนสถานที่ราชการต่าง ๆ มาตั้งที่เพชรบูรณ์ และได้ทำการปักเสาหลักเมืองหลวงไว้ที่บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก เสาหลักเมืองนี้ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ฐานล่างประกอบด้วยไม้มงคล 8 อย่าง นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานว่าได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่ เพชรบูรณ์อีกด้วย ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหาร นครบาลเพชรบูรณ์เป็นพระราชบัญญัติแต่ด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลที่ว่า ”เพชรบูรณ์เป็นดินแดนกันดาร มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ป่าชุกชุม” การสร้างเมืองหลวงใหม่จึงถูกยกเลิกไป อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นเป็นเพื่อรำลึกถึงบุญคุณและ อัจฉริยภาพของ จอมพลป.พิบูลสงคราม และเพื่อคนเพชรบูรณ์ จะได้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งและความเจริญก้าว หน้าของบ้านเมืองตน
พิกัด GPS : 16.417047, 101.153887  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

13. หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด (ClockTower of the Twin World Champion Boxers)

เป็นอนุสรณ์แก่แชมป์โลกคู่แฝดชาวเพชรบูรณ์เขาค้อ และเขาทราย แกแลคซี่ โดยเขาทรายแกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527  ชกป้องกันตำแหน่งชนะ 19 ครั้ง โดยไม่เสียตำแหน่ง ก่อนแขวนนวม 1 กุมภาพันธ์ 2535  สมาคมมวยโลกยกย่องให้เป็นนักชกยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. 2532 นักชกยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษเมื่อ พ.ศ.2533 และรางวัล “WORLDBOXING HALL OF FRAME” บรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศนักมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกของ WBA ณ เมืองคานาสโตต้า สหรัฐอเมริกา  ส่วนเขาค้อ แกแลคซี่เป็นแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก และเป็นแชมป์รุ่นนี้คนแรกของไทยได้แชมป์โลกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2531 ซึ่งทั้งสองคนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างมากโด่ง ดังไปทั้งประเทศในฐานะที่เป็นแชมป์โลกคู่แฝดในเวลาเดียวกัน
พิกัด GPS : 16.418951, 101.154955  (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

14. สวนสาธารณะหนองนารี (Nong-Naree Public Park)

เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เป็นแหล่งพันธุ์พืช ประเภทบัวนานาชนิด แหล่งพันธุ์ปลาต่างๆ ตลอดจนนกหลากหลายสายพันธุ์ทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพจากถิ่นอื่น เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ปรับปรุง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกายสถานที่จัดงานประเพณีและกีฬา รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังได้จัดทำอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์พืชศาสตร์ บรรพชีวิน พลังงาน สิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา แสงเลเซอร์ และมีท้องฟ้าจำลองหอดูดาว โรงหนัง 3 มิติ อุทยานบัวสวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ ชื่อหนองนารีนั้น มีที่มาจากการทำนาที่ได้ปั้นคันนาเป็นรูปโค้งรีๆ ไม่ตัดตรงแบบคันนาที่อื่นๆ จึงเรียกว่า บ้านนารีต่อมาเมื่อสมัยนครบาลเพชรบูรณ์ได้มีการสร้างถนนกั้นทางน้ำจนเกิด เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
พิกัด GPS : 16.438811, 101.145198 (คลิกเพื่อไปดูพิกัดในแผนที่ Google Maps)

 

(ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก: ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์)

ข้อมูลเผยแพร่ใน

http://review.tourismthailand.org/index.php/14-impressions-phetchabun-city-tour/

 

แสดงความคิดเห็น ผ่าน Facebook

ความคิดเห็น

Powered by Facebook Comments

23 กุมภาพันธ์ 2017 / by / in

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *