ที่ตั้ง

  • พิกัด GPS : 15.467550, 101.135995
  • แผนที่เส้นทาง Google Maps : https://goo.gl/maps/YD7DjxS9CM62
  • ที่ตั้ง ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170

ข้อมูลทั่วไป

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวนสิบแห่งของประเทศไทยปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.2447

พื้นที่ที่มีการตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18-ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน

บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกัน
1. ส่วนเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ หรือประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย แบ่งพื้นที่ภายในเป็นสองเมืองที่นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกันที่พบในปัจจุบัน –

– โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นเมืองรูปเกือบกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทางและมีโบราณสถาน ซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง อันมีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งมีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 70 สระ
– ในขณะที่เมืองนอกมีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทางและมีโบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบูรณะทั้งหมดประมาณ 54 แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 30 แห่ง มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่กลางเมืองและ

2. ส่วนนอกเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเท่าที่สามารถสำรวจได้ในปัจจุบันนั้นมีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ 50 แห่งและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเช่นเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานปรางค์ฤาษี ที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกันกับโบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ

นอกจากนั้น บริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพ ทางด้านทิศตะวันตก ประมาณ 20 กิโลเมตร ยังมีโบราณสถานที่ถ้ำเขาถมอรัตน์เป็นภาพสลักบนผนังถ้ำ เป็นรูปพระพุทธรูป และพระโพธิ์สัตว์ ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 อันมีความเกี่ยวพันที่ใกล้ชิดกับคติความเชื่อของผู้คนในเมืองโบราณศรีเทพในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย

สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวและการศึกษาภายในอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจสามารถเดินทางเข้าชมเข้าศึกษาตามลำดับได้ดังนี้

 

ศูนย์บริการข้อมูล เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองโบราณศรีเทพ รวมทั้งการอนุรักษ์ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ภายในประกอบด้วยห้องประชุม หรือบรรยายสรุปก่อนการเข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ ห้องนิทรรศการถาวรด้วยสื่อทันสมัย ห้องสร้างเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก ส่วนจำหน่ายหนังสือ เครื่องดื่มและของที่ระลึก และอาคารปฏิบัติการทางโบราณคดีที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และบริเวณใกล้เคียง
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูก ช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า 2,000 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้างนั้นนับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานเนื่องใน วัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด

 

อาคารวิชาการและห้องสมุด เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งกิจกรรมด้านการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและห้องสมุด

 

ปรางค์สองพี่น้อง เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ) จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่น้องนี้คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู(พราหมณ์)ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1760) ข้อมูลเพิ่มเติม

 

ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรมีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1760) เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อมูลเพิ่มเติม

 

เขาคลังใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตกยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวอำเภอศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปีในระหว่างวันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์) เดิมศาลนี้จะตั้งอยู่นอกคันดินเมืองโบราณศรีเทพ ต่อมาจึงได้ย้ายมาตั้งในบริเวณด้านในประตูแสนงอน (ประตูด้านทิศตะวันตก) ที่เป็นทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสองหลัง อาคารด้านหน้าใช้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อศรีเทพ ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 สำหรับองค์เจ้าพ่อนั้นเดิมได้ใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2514-2515 องค์เจ้าพ่อนั้นได้ถูกโจรกรรมไป ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ตามจินตนาการและ ความเชื่อเพื่อใช้เป็นรูปเคารพประจำศาลเจ้าพ่อศรีเทพสืบมาจนเท่าถึงปัจจุบัน ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้บริเวณด้านนอกเมืองยังมีโบราณสถานที่มีคุณค่าและน่าสนใจอีก 2 แห่ง ได้แก่

 

เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่นอกเมือง ออกไปราว 2 กิโลเมตร สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่างๆอยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถือได้ว่าเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน ข้อมูลเพิ่มเติม

 

ปรางค์ฤาษี ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูนตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ
สันนิษฐานว่าปรางค์ฤาษีน่าจะมีอายุเก่ากว่า หรือร่วมสมัยกับโบราณสถานปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง ที่ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ข้อมูลเพิ่มเติม

การเดินทาง

  • ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร
  • รถยนต์ส่วนตัว โดยเดินทางตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (กรุงเทพฯ-สระบุรี-เพชรบูรณ์) แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2211 หน้าที่ว่าการอำเภอศรีเทพ อีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
  • รถโดยสารประจำทาง จะมีทั้งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 1 รถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 และรถโดยสารประจำทางธรรมดา จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2 จตุจักร) ซึ่งวิ่งขึ้น-ล่องตลอดทั้งวัน แล้วลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ (บ้านกลาง) และต่อรถรับจ้างเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

กิจกรรม

  • ถ่ายภาพสถานที่
  • ศึกษาประวัติศาสตร์

สิ่งอำนวยความสะดวก

  • มีห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยว
  • ที่จอดรถบริเวณกว้าง สามารถไปชมสถานที่ต่างๆ
  • ในกรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมหรือเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยขอวิทยากรนำชม สามารถติดต่อประสานงานได้โดยตรงที่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทรศัพท์ 056-921322 โทรสาร 056 –921317

ค่าบริการ

  • เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • ค่าเข้าชมโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว และค่านำยานพาหนะที่อนุญาตให้เข้าไปในโบราณสถาน
  • อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
  • ค่ายานพาหนะที่อนุญาตให้เข้าไปในโบราณสถาน รถยนต์ คันละ 50 บาท
  • ยกเว้นสามเณรในพระพุทธศาสนาหรือนักบวชในศาสนาอื่น นักเรียน นิสิตและนักศึกษาในเครื่องแบบนักเรียน นิสิตและนักศึกษารวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุมในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยประสานงานล่วงหน้า

โซเชียลมีเดีย

 

คลิปวิดีโอ

 

แสดงความคิดเห็น ผ่าน Facebook

ความคิดเห็น

Powered by Facebook Comments

Related Listings